“น้ำ” เป็นสิ่งที่มีความสำคัญต่อชีวิต
โดยเฉพาะในด้านของสุขภาพนั้น น้ำ จะมีหน้าที่สำคัญในกระบวนการย่อยและละลายสารอาหารรวมทั้งออกซิเจนเพื่อส่งไปยังเซลล์ต่าง ๆ ทั่วร่างกาย ช่วยให้หัวใจทำงานเป็นปกติ และระบบไหลเวียนโลหิตทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ
รวมทั้งมีส่วนช่วยทำให้ข้อกระดูกต่าง ๆ เคลื่อนไหวได้สะดวกยิ่งขึ้น นอกจากนี้ น้ำยังเป็นตัวช่วยสำคัญในการละลายสารพิษแล้วขับออกจากร่างกาย จึงมีส่วนช่วยทำให้มีผิวพรรณที่เปล่งปลั่งสดใส ไม่แห้งกร้าน ใบหน้าชุ่มชื้นดูมีเลือดฝาด และดูอ่อนกว่าวัยอีกด้วย
ที่สำคัญคือ ร่างกายของคนเราจะประกอบไปด้วยน้ำมากถึงร้อยละ 70 โดยในจำนวนนี้ จะเป็นน้ำที่ประกอบอยู่ภายในเซลล์ถึงร้อยละ 60 อยู่ภายนอกเซลล์อีกร้อยละ 30 นอกนั้นจะเป็นน้ำที่อยู่ในเนื้อเยื่อและเลือด
ด้วยเหตุนี้ มนุษย์จึงมีความต้องการน้ำสูงถึงวันละ 2-3 ลิตร เพื่อกระบวนการต่าง ๆ และเพื่อทดแทนในส่วนที่สูญเสียไปกับการขับถ่าย เหงื่อ และลมหายใจ
ดังนั้น หากในแต่ละวันร่างกายของเราไม่ได้รับน้ำในปริมาณที่เพียงพอ ร่างกายก็จะดึงเอาน้ำจากส่วนต่าง ๆ มาใช้ จึงส่งผลให้เลือดมีความเข้มข้นสูง ระบบไหลเวียนของเหลวผิดปกติ ทำให้ผิวหยาบกร้าน ปวดศีรษะ เป็นตะคริว และเกิดภาวะความดันโลหิตสูงได้
แต่ก็มีข้อควรระวังในผู้ป่วยที่เป็นโรคไต เพราะการดื่มน้ำในปริมาณที่เกินกว่าการควบคุมของแพทย์ ก็จะเป็นเหตุทำให้มีน้ำคั่งอยู่ภายในซึ่งจะส่งผลทำให้มีแขนขาบวม และความดันโลหิตสูงตามมาในที่สุด
อย่างไรก็ดี สำหรับคนปกติ การดื่มน้ำให้พอดีกับความต้องการในแต่ละวัน อาจจะยังไม่เพียงพอต่อการส่งเสริมสุขภาพเท่าใดนัก เพราะการดื่มน้ำให้ได้ประโยชน์สูงที่สุด ควรคำนึงถึงหลักต่อไปนี้ด้วย คือ
1. น้ำที่จะนำมาดื่มจะต้องเป็นน้ำที่สะอาด ปราศจากเชื้อโรคต่าง ๆ รวมทั้งสารเคมีเจือปน โดยจะต้องดื่มให้ได้อย่างน้อยวันละ 6 – 8 แก้ว หรือราว 2–3 ลิตร จึงจะเพียงพอกับความต้องการของร่างกาย
2. ควรดื่มน้ำทันทีภายหลังจากตื่นนอนในตอนเช้าอย่างน้อย 2 แก้ว เพื่อช่วยในการขับถ่ายของเสีย แต่ไม่ควรดื่มเกินครึ่งแก้วก่อนรับประทานอาหาร 15 นาที และภายใน 40 นาทีหลังมื้ออาหาร เพราะจะทำให้น้ำย่อยเจือจางจนส่งผลกระทบต่อระบบย่อยอาหารได้
3. ควรดื่มน้ำทุกครั้งที่รู้สึกกระหาย โดยในวันที่อากาศร้อนและแห้ง หรืออยู่ภายในห้องที่มีการปรับอากาศ ก็จำเป็นจะต้องได้รับน้ำในปริมาณที่เพิ่มมากขึ้น เพราะร่างกายจะมีการสูญเสียน้ำไปทางผิวหนังและลมหายใจมากกว่าปกติ
นอกจากนี้ ภายหลังจากการออกกำลังกาย หรืออยู่ในระหว่างมีไข้ ท้องเสีย หรืออาเจียน ก็ควรดื่มน้ำเพื่อชดเชยน้ำที่สูญเสียไปด้วย โดยดื่มทีละนิดแต่จิบบ่อย ๆ ตลอดทั้งวัน เพื่อไม่ให้เป็นการไปเพิ่มภาระให้กับอวัยวะในระบบขับถ่าย ได้แก่ ไต ปอด ม้าม และระบบย่อยอาหารอื่น ๆ
4. จำไว้ว่า การดื่มน้ำที่เย็นจัดจนเกินไป แม้จะทำให้รู้สึกสดชื่นแต่ก็จะไปเพิ่มภาระให้กับอวัยวะภายในมากขึ้น เพราะร่างกายจะต้องปรับอุณหภูมิของน้ำให้เท่ากับอุณหภูมิภายในร่างกายเสียก่อน จึงส่งผลกระทบต่อระบบต่าง ๆ ภายในร่างกาย รวมทั้งทำให้ร่างกายอ่อนแอลงได้
นอกจากนี้ ยังจะต้องหลีกเลี่ยงรับประทานอาหารที่มีรสจัดจนเกินไปด้วย เพราะจะทำให้รู้สึกกระหายน้ำมากกว่าปกติ แต่การดื่มน้ำที่มากเกินความจำเป็นของร่างกาย จะเป็นสาเหตุทำให้ไตต้องทำงานหนัก จึงส่งผลต่อการมีร่างกายที่ทรุดโทรมก่อนวัยอันควรได้
ไม่ใช่เรื่องยาก เพราะเพียงแค่ดื่มน้ำให้เพียงพอและถูกหลัก ก็พอเพียงแล้วสำหรับการมีสุขภาพที่ดีควบคู่ไปกับการมีผิวพรรณที่เปล่งปลั่ง งดงาม